Internationalized Domain Name (IDN) หรือ ชื่อโดเมนภาษาท้องถิ่น คือ ชื่อโดเมนที่สามารถประกอบด้วยอักษร (character) อื่น ๆ ที่นอกเหนือไปจากตัวอักษรภาษาอังกฤษ 37 ตัวซึ่งได้แก่ ตัวอักษรภาษาอังกฤษ (อักษรละติน) ในรหัส ASCII A-Z, ตัวเลขอารบิก 0-9 และเครื่องหมายยัติภังค์ (-) แต่เดิมการจดทะเบียนชื่อโดเมนเนมถูกจำกัดให้ใช้ตัวอักขระ ASCII เท่านั้น เนื่องจากข้อจำกัดทางเทคนิคของระบบชื่อโดเมน ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาระบบ IDN เราจึงสามารถใช้ตัวอักษรในภาษาอื่นๆรวมทั้งภาษาไทยอันหมายรวมถึงพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ และเครื่องหมายอื่น ๆ ในภาษาไทยในรหัส  Unicode  ในการกำหนดชื่อโดเมนได้ และ มีการใช้ชื่อโดเมนภาษาไทยครั้งแรกในปี พ.ศ. 2554

ชื่อโดเมนภาษาไทย สามารถใช้ตัวอักษรในภาษาไทยอันหมายรวมถึงพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ และเครื่องหมายอื่น ๆ ในภาษาไทย เช่น กรมแพทย์ทหารเรือ.รัฐบาล.ไทย หรือ รู้จัก.ไทย เป็นต้น ตามหลักการตั้งชื่อโดเมนที่กำหนดไว้ใน นโยบายการรับจดทะเบียนชื่อโดเมน .th และ .ไทย ฉบับปรับปรุงปี 2563 โดย มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย

เว็บไซต์ไทยที่ใช้ชื่อโดเมนภาษาไทย ใช้สื่อความหมายได้ชัดเจน ไม่ต้องแปลเป็นชื่อภาษาอังกฤษ ก่อให้เกิดปัญหาในการอ่านและการสื่อสารชื่อโดเมน นอกจากนี้ชื่อโดเมนภาษาไทยยังใช้บ่งบอกความเป็นตัวตน ขององค์กร ชุมชน บุคคล ได้

การใช้ชื่อโดเมนภาษาไทยช่วย ลดข้อจำกัดด้านภาษา ช่วยลดช่องว่างในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และช่วยเพิ่มมูลค่าอีคอมเมิร์ซไทยได้ ผู้ประกอบการที่ต้องการโปรโมทสินค้าในไทย สามารถตั้งชื่อโดเมนที่บอกได้ทำธุรกิจอะไร ทำให้ลูกค้าจดจำชื่อโดเมน และค้นหาชื่อโดเมนนั้นได้ง่ายขึ้น